ผนึกความร่วมมือ สานพลังจิตอาสาเครือข่ายพลเมืองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครราชสีมา “ปักธง 32 อำเภอ โคราชเมืองแห่งความสุข” โคราชยิ้ม เมืองปลอดภัย เมืองสร้างสรรค์ สร้างสุข เพื่อเด็กเยาวชนและทุกคน

Last updated: 26 ก.ย. 2566  |  68 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผนึกความร่วมมือ สานพลังจิตอาสาเครือข่ายพลเมืองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครราชสีมา “ปักธง 32 อำเภอ โคราชเมืองแห่งความสุข”  โคราชยิ้ม เมืองปลอดภัย เมืองสร้างสรรค์ สร้างสุข เพื่อเด็กเยาวชนและทุกคน

นายศุภภิมิตร  เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานพิธี ร่วมหนุนเครือข่ายเด็กเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมา สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์การค้าเดอะมอลล์โคราช มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เครือข่ายเยาวชนโคราชยิ้ม กลุ่มเยาวชนSYDN เครือข่ายองค์กรงดเหล้าอีสานล่าง มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กเยาวชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผนึกกำลังความร่วมมือและสานพลังจิตอาสาเครือข่ายพลเมืองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครราชสีมา

“ปักธงสร้างเมือง 32 อำเภอ โคราชเมืองแห่งความสุข”

เปิดเวทีสื่อสารเสียงเด็กเยาวชน มหกรรมสานพลังจิตอาสาเครือข่ายพลเมืองเด็กและเยาวชน “ปักธงสร้างเมือง” โคราชเมืองปลอดภัย เมืองสร้างสรรค์ เมืองสร้างสุข เพื่อเด็กเยาวชนและทุกคน เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติจังหวัดนครราชสีมา ประจำปี 2566 วันอังคารที่ 19 เดือนกันยายน 2566  เวลา 09.00 - 15.00 น.  ณ เอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์โคราช อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา จำนวนทั้งสิ้น 1,000 คน



               นางอรินท์มาศ  กาแก้ว หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เด็กและเยาวชน ถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติในอนาคต "หัวใจ" ของการพัฒนาคือ การสร้างเด็กและเยาวชนของชาติวันนี้ให้มีคุณภาพเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางรากฐานของประเทศไทยให้เกิดความมั่นคงที่จะก้าวไปสู่การพัฒนานั่นเอง  งานมหกรรมสานพลังจิตอาสาเครือข่ายพลเมืองเด็กและเยาวชน “ปักธงสร้างเมือง”โคราชเมืองปลอดภัย เมืองสร้างสรรค์ เมืองสร้างสุข เพื่อเด็กและเยาวชนทุกคน เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติจังหวัดนครราชสีมา ประจำปี 2566 จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง  มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน และทุกภาคส่วนของสังคมได้ตระหนักในความสำคัญของเด็กและเยาวชนโดยการยกย่องเชิดชู ให้การสนับสนุนกิจกรรม และเพื่อให้เด็กและเยาวชน มีพื้นที่สร้างสรรค์ในการทำกิจกรรม และร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ (ส่วนภูมิภาค)

               ปรัชทิพา หวังร่วมกลาง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) กล่าวว่า  ปัจจุบันเมืองเราอยู่ในยุคโลกผันผวนและสลับซับซ้อน มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านอย่างรวดเร็ว เช่น เทคโนโลยี โรคอุบัติใหม่ ภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต ความเครียด สุขภาพ และเศรษฐกิจในชุมชน รวมไปถึงปัญหาปัจจัยเสี่ยง สารเสพติด (เหล้า บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กระท่อม) เข้าถึงง่าย ผู้คนไม่เท่าทันโซเชียลมีเดีย มีภัยแฝงจากสื่อ เนื้อหารุนแรง การบูลูลี่กลั่นแกล้ง และชวนเชื่อ เป็นภัยต่อวิถีชีวิต และส่งผลกระทบต่อสังคม และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งในมิติ การคมนาคม บริการขนส่งสาธารณะไม่พียงพอ การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้ใช้การบริการยังไม่ทั่วถึง และความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา เด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบ การเรียนรู้ของเด็กหยุดชะงักเนื่องจากผลพวงของสถานการณ์โควิด -19  รวมถึงพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สร้างสรรค์ กิจกรรมสร้างสรรค์ ยังไม่หลากหลาย ขาดการสนับสนุนการสร้างความเข้าใจและมีข้อจำกัดของพื้นที่ ทุกประเด็นทุกมิติของปัญหา ล้วนไม่เอื้อต่อการพัฒนาเมืองหรือการใช้ชีวิตของผู้คน การผนึกและสานพลังเครือข่ายเด็กเยาวชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม  ร่วมปักธง 32 อำเภอ ในจังหวัดนครราชสีมา เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาเมือง ให้มีระบบนิเวศสุขภาวะ ที่พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสส่งเสริมการเรียนรู้ สู่การพัฒนาเมืองโคราชทิศทางที่ดีขึ้น

                 นายวชิรศักดิ์  ประณีตพลกรัง ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เรามาร่วมสร้างและพัฒนาเมือง โดยนำการมีส่วนร่วมของพลเมืองทุกคนในการคิดตัดสินใจ และเสนอวิธิการจัดการพื้นที่ที่ตอบโจทย์ทุกชีวิต มองเห็นความต้องการ สร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสิทธิ และบริการสาธารณะ โดยมีข้อเสนอเสียงพลเมืองเด็กเยาวชน ต่อแนวทางการ “ร่วมสร้างและพัฒนาเมือง” โคราชเมืองปลอดภัย เมืองสร้างสรรค์ เมืองสร้างสุข เพื่อเด็กเยาวชนและทุกคน

1) เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ในการแสดงศักยภาพ แสดงความคิดเห็น การแสดงออกสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่รวมพลังของเด็กเยาวชนอย่างหลากหลาย  

2) ส่งเสริมความเป็นพลเมืองให้กับทุกคน พัฒนาทักษะการรู้เท่าทันตนเอง เท่าทันสื่อ เท่าทันสังคม มีภูมิรู้ และมีทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม  

3) พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลาย และส่งเสริมสร้างการการรับรู้ ทุกคนเข้าถึงง่าย สามารถเข้าไปเรียนรู้และใช้บริการ

4) สร้างช่องทาง ให้ทุกคนได้เข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐาน และเข้าถึงสิทธิและได้ใช้การบริการอย่างทั่วถึง

5) จัดทำแผนการสื่อสารรณรงค์เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร “ปัจจัยเสี่ยง” สร้างการรับรู้ ตระหนัก และเท่าทัน

6) บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และมีมาตรการที่เหมาะกับบริบทและพื้นที่ และเครือข่ายเด็กเยาวชนพลเมืองอาสา “ทำได้” โดยมีแกนนำเด็กเยาวชนไม่น้อยกว่า 300 คน ได้ดำเนินโครงการปฏิบัติการร่วมสร้างสรรค์ชุมชน เมืองในระดับพื้นที่ โดยการรณรงค์ให้ความรู้เข้าใจ เท่าทัน เสริมทักษะ และเพิ่มพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย ไม่น้อยกว่า 50 โครงการ ใน 32 อำเภอ จังหวัดนครราชสีมา และทุกคนก็ทำได้ มีจิตอาสาให้ความช่วยเหลือและแบ่งปันให้กับชุมชนสังคม ปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ไม่สนับสนุนและต่อต้านความรุนแรงในเด็กและเยาวชน และการบูลลี่กลั่นแกล้ง เคารพสิทธิไม่ละเมิดให้เกียรติและคุณค่าผู้อื่น สื่อสาร ส่งเสียง มีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน สังคม ชุมชน รัฐ ท้องถิ่น ทำได้ ให้ความสำคัญเด็กเยาวชน และสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในทุกด้าน, รณรงค์ให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนอย่างเข้าใจง่ายและมีมาตรการที่เอื้อต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (เหล้า บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กระท่อม) , เปิดพื้นที่ในการรับฟังปัญหาและร่วมกันออกแบบแก้ไข  , เพิ่มพื้นที่ในการแสดงออก และกิจกรรมสร้างสรรค์ , ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ตำบล จังหวัด

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้