ประวัติแก๊งลูกวัว

Last updated: 27 เม.ย 2566  |  71 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประวัติแก๊งลูกวัว

กลุ่มแก๊งลูกวัว 

ชุมชนบ้านคอกวัว อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ชุมชนบ้านคอกวัว เดิมชื่อชุมชนบ้าน “โฆกงัว” เริ่มก่อตั้งในปี 2492 มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูง  สมัยก่อนเป็นทางผ่านและจุดพักของนายฮ้อยโคบาลระหว่างเดินทางไปค้าขายทางภาคกลาง และเปลี่ยนชื่อมาเป็นบ้าน “คอกวัว”  เมื่อปี 2500 ผู้ใหญ่บ้านคอกแรก ชื่อ ผู้ใหญ่ช้าง ทนหมื่นไวย เดิมคนในชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพ เกษตรกรรม (ทำเกษตรอุตสาหกรรมยุคแรกเริ่ม) ปัจจุบันชุมชนบ้านคอกวัวเป็นชุมชนชาญเมืองที่ยังมีความเป็นชุมชนดั้งเดิม และมีหมู่บ้านจัดสรร บ้านเช่ารวมอยู่ด้วย คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพทางการเกษตร ปลูกพืชผักตามฤดูการส่งตลาดตัวเมือง และอาชีพรับจ้างทั่วไป สภาพแวดล้อมเริ่มเปลี่ยนแปลง เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทั้งผู้คน และวัฒธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่

แก๊งลูกวัว เกิดจากการรวมตัวของเยาวชนอาสาโคราชเมื่อประมาณปลายปี 2561 เกิดจากเด็กเยาวชนอยากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์บ้านตนเองและอยากมีพื้นที่สร้างสรรค์พื้นที่ทำกิจกรรม เพราะเห็นปัญหาเรื่องการไม่มีพื้นที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมของคนในชุมชน ชุมชนมีพื้นที่เสี่ยง รกร้าง และเด็ก ๆ ขาดพื้นที่เล่น จึงเริ่มต้นจากการชวนเด็กเยาวชนและพ่อๆแม่ๆ ในชุมชนลงตามหาเรื่องราวชุมชนโดยใช้เครื่องมือ 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) และจุดยิ้มออก ยิ้มไม่ออก ผ่านกระบวนการ 5 นิ้ว  คือ เล่น เรียนรู้ ริเริ่ม สร้างสรรค์ แบ่งปัน ทำให้เกิดเป้าหมายร่วมกันกับชุมชนคือ 4 ส. (สะอาด สว่าง สีเขียว สีสัน) โดยเริ่มจากการปรับสภาพแวดล้อมทำความสอาดในชุมชน ลงมือสร้างสรรค์กำแพงศิลปะเล่าเรื่องชุมชน  ขยับชุมชนให้มีชีวิตโดยการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ “ซอนเหล่น ซอยยิ่ม พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกคน” 

ปัจจุบันพื้นที่เล่นที่เด็กต้องการ ไม่ใช่เฉพาะเพียงลานโล่ง แต่เป็นทั้งซอยได้รับการปรับเปลี่ยนจากความร่วมมือของทั้งคนในชุมชน ศิลปิน กลุ่มเยาวชนอาสาโคราช ร่วมกันสรรค์สร้างกำแพงศิลปะเล่าเรื่องบ้านคอกวัว ที่เกิดจากเด็กเยาวชนแก๊งลูกวัวได้ค้นหาข้อมูล ออกแบบเล่าเรื่องผ่านกำแพงศิลปะที่เล่าเรื่องได้ด้วยตัวเอง และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ทั้งการเปิดตลาดนัด “ตลาดนัดวิถีถิ่น คนคอกวัว” สื่อสารวิถีอยู่ วิถีกิน พืชผักปลอดสาร อาหารปลอดภัยในชุมชน  เปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน เกิดการพบปะพูดคุยของคนในชุมชนทั้งปู่ ย่า ตา ยาย ออกมาทำกิจกรรมร่วมกันสร้างรอยยิ้ม ความสุข

ในปี 2563 ชุมชนบ้านคอกวัวเผชิญกับสภาวะวิกฤต การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID -19) ส่งผลกระทบให้ รายได้ลดลง ขายของไม่ได้เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่เริ่มใช้แอพออนไลน์สั่งอาหาร  ลูกหลานส่งเงินน้อยลงเพราะไม่มีรายได้ สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ต้นทุนสูง  เสียสุขภาพจิต จิตตกเป็นห่วงคนในครอบครัว  มีผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยเรื้อรังต้องดูแล กระทบเรื่องสุขภาพเดินทางไปรับยาลำบาก ถูกยกเลิกจ้างงาน พักงานชั่วคราว หาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ขายของออนไลน์ เด็กเยาวชนหยุดอยู่บ้าน เรียนออนไลน์ ติดมือถือ สื่อออนไลน์ การเรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง

จึงออกแบบแผนปฏิบัติการชุมชนสร้างวรรค์ฝ่าวิกฤต “คอกวัวแบ่งปัน สร้างสรรค์ ปลอดภัยสู้ภัยโควิด-19” มีเป้าหมายคือ พลเมืองในชุมชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤตโควิด-19  ช่วยเหลือแบ่งปันบรรเทาทุกข์ผู้ที่ได้รับผลกระทบในชุมชน ร่วมออกแบบพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้ปลอดภัย ปลอดเชื้อ มีมาตรการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด นำมาสู่การมีพื้นที่ปันยิ้ม พื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่เล่น ห้องเรียนวิถีถิ่น มุมสื่อ ลานเล่นอิสระในชุมชน และเปิดพื้นที่เดิ่นยิ้มแบ่งปัน ในรูปแบบตลาดนัดวิถีถิ่นและตลาดออนไลน์แลกเปลี่ยนแบ่งปันกันในชุมชน มีรูปแบบ คือ 

  1. ส่งเสริมพื้นที่แหล่งอาหารปลูกผักในชุมชน 5 แหล่ง โดยการสำรวจเก็บข้อมูลพื้นที่แหล่งอาหารในชุมชน มอบเมล็ดพันธุ์ให้กับ 5 บ้านเพื่อสร้างพื้นที่คลังอาหาร และออกแบบสื่อสารเพื่อให้คนในชุมชนเช้าถึงพื้นที่แหล่งอาหาร  
  2. ส่งเสริมระบบพื้นที่แบ่งปันในชุมชน ประชาคมสร้างความร่วมมือออกแบบพื้นที่แบ่งปันรูปแบบตลาดนัดวิถีถิ่นชุมชนคนคอกวัว อาหารปลอดภัย ราคาย่อมเยา ลดใช้พลาสติก และออกแบบมาตรการรองรับการเปิดพื้นที่รวมกลุ่ม โดยมีคอนเซ็ปคือ “พกถุงผ้าตะกร้าปิ่นโต สวมแมสโชว์ล้างมือก่อนเข้า”
  3. ส่งเสริมพื้นทิ่เดิ่นปันยิ้ม กิจกรรมสร้างสรรค์ที่สร้างการสุข สร้างการเรียนรู้ในชุมชน ทั้งในรูปแบบของกิจกรรมสร้างสรรค์ การแสดงสื่อศิลปะพื้นบ้าน นิทรรศการเชื่อยร้อยเชื่อมโยงกับชุมชน และตู้ปันยิ้ม ชุดหนังสือและชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ภูมิปัญญา
  4. ห้องเรียนภูมิปัญญาลูกวัวปันยิ้ม เก็บข้อมูลพัฒนาห้องเรียนชุมชนต่อยอดพื้นที่สร้างสรรค์พัฒนาพื้นที่เล่นได้ให้มีชีวิต #ซอยเหล่น ซอยยิ้ม พื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับทุกคน ลงมือสร้างสรรค์ถนนเล่นได้ และเปิดเป็นพื้นที่ลานเล่นอิสระ

ในปี 2564   ชุมชนบ้านคอกวัวยังคงเผชิญกับวิกฤตชุมชน สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID -19) ระรอก 3 ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

มีประเด็นร่วมกันขับเคลื่อน 3 เรื่อง คือ 

1) สภาวะเร่งด่วน การดูแลกลุ่มเปาะบาง คนตกงาน ขาดรายได้ การสร้างรายได้ การสร้างคลังอาหาร สร้างอาชีพ

2) เพิ่มพื้นที่แบ่งปันเพื่อดูแลคนในชุมชน

3) การสร้างพื้นที่เรียนรู้ กิจกรรมทักษะชีวิตการดูแลตัวเอง เสริมการเรียนทดแทนการเรียนออนไลน์ ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการในพื้นที่  ส่งเสริมการเรียนรู้สู่เด็กเยาวชน สนับสนุนพลังชุมชนสร้างสรรค์จัดการตนเอง และพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ร่วมสร้างสรรค์ชุมชนสังคม โดยมีการเชื่อมการทำงานกับกลุ่มอาสาสมัคร ได้แก่  แกนนำในชุมชน กลุ่มแกนนำเยาวชนในชุมชน คนรุ่นใหม่กลับบ้าน รวมถึงภาคีเครือข่ายทางสังคม โดยใช้ 3 พลังร่วมสร้างสรรค์ชุมชนฝ่าวิกฤต คือ พลังพลเมือง แกนนำชุมชน พลังชุมชน และพลังสร้างสรรค์ กู้วิกฤต 

  1. ส่งเสริมการเรียนรู้สู่เด็กเยาวชน (การเรียนรู้ทางเลือก) พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนเป็นพื้นที่เรียนรู้ห้องเรียนชุมชนเดิ่นวัวยิ้ม มีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาชุมชนส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะ  โดยการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชน กลุ่มแกนนำและแกนนำชุมชน ครูภูมิปัญญา ผู้รู้ในชุมชน ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายทิศทางและออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ ที่สร้างระบบนิเวศสื่อเพื่อสุขภาวะในชุมชน เพื่อทุกคน เกิดเส้นทางการเรียนรู้ห้องเรียนชุมชน  และส่งเสริมพื้นที่เรียนรู้โดยแกนนำอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ในชุมชน ออกแบบห้องเรียนด้านวิชาการ ศิลปะ กิจกรรมสร้างสรรค์ และลานเล่น เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชนในชุมชนในช่วงหยุดอยู่บ้าน เรียนออนไลน์
  2. ส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์ แบ่งปัน ปลอดภัย ในชุมชน ผ่านการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เทศกาลชุมชนสงกรานต์ ลอยกระทง ทอดกฐิน กิจกรรมสร้างสรรค์ ตลาดนัดปลอดภัย พื้นที่แบ่งปันแลกเปลี่ยนสิ่งของ พื้นที่เรียนรู้ห้องเรียนชุมชนมโหรีเมืองย่า และสื่อสารผ่านงานเทศกาลประจำปี

 

วิกฤติน้ำท่วมโคราช

มวลน้ำจากลำน้ำลำตะคองในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ได้เอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้กับลำน้ำ ชุมชนหลังวัดสามัคคี ชุมชนหลังเดอะมอล์ล ริมคลองตะคองเก่า ต.ในเมือง ชุมชนต่างตา ชุมชนคอกวัว ใน ต.หนองกระทุ่ม อ.เมืองนครราชสีมา ชุมชนใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และที่พบว่าสาหัสมาก มวลน้ำได้เอ่อไหลเข้าท่วมบริเวณโดยรอบวัดสามัคคี และท่วมบ้านเรือน ได้รับความเดือดร้อน บางจุดในชุมชนถูกน้ำท่วมสูงเกิน 1 เมตร  และกระแสน้ำไหลเชี่ยว จนไม่สามารถพักอยู่อาศัยได้ คนที่มีบ้านชั้นเดียวต้องอพยพไปอาศัยอยู่ที่ศาลาวัดสามัคคีซึ่งตั้งอยู่ปากทางเข้าชุมชน และน้ำยังท่วมไม่ถึง บ้านเรือนพังเสียหายตาม ๆ กัน

พลังเยาวชนพลเมือง ร่วมกู้วิกฤต เข้าสำรวจปัญหาผลกระทบในชุมชน และประสานความร่วมมือระดมทรัพยากรเร่งด่วนเข้าไปช่วยแก้บรรเทาทุกข์ในเบื้องต้น จัดการความปลอดภัย ความเสี่ยงจากเชื้อโควิด -19 ดูแลจัดหาของใช้เข้าถึงกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง เด็กเล็ก ระดมอาหาร ยา สิ่งของจำเป็นเร่งด่วนส่งตรงถึงกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนในชุมชนบ้านคอกวัวจำนวน100 ครัวเรือน และชุมชนอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ ไม่น้อยกว่า 1,000 ครัวเรือน

ในปี 2565

ชุมชนบ้านคอกวัว ยังเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด โควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากต้องดูแลตัวเองมากขึ้นจากเดิมส่งผลต่อสุขภาพจิตมีสภาวะเครียดเพราะไม่ได้พบปะผู้คนขาดพื้นที่สาธารณะที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันลดลง ขาดการดูแล เกิดความห่างเหินขาดพื้นที่เล่นของเด็ก นอกเหนือจากนั้นยังส่งผลต่อรายได้และบริบทของชุมชนที่มีอาชีพทำการเกษตรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีจึงส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของคนในชุมชน จึงมีเป้าหมายคือ การทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวาผู้คนใกล้ชิดสนิทกัน มีพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่เล่น พื้นที่ปฏิสัมพันธ์ ชุมชนสะอาดปลอดภัย สร้างเศรษฐกิจสร้างรายได้ในชุมชน มีการออกแบบการดำเนินงาน คือ 

  1. พื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก ห้องเรียนชุมชนเดิ่นวัวยิ้ม กิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนบ้านคอกวัว 
  2. สร้างพื้นที่สาธารณะที่คนในชุมชน สามารถมาทำกิจกรรมและเป็นประโยชน์ เปิดตลาดวิถีถิ่นคนคอกวัว มีสวนสาธารณะ ลานออกกำลังกาย ลานเล่น ลานกิจกรรมสร้างสรรค์
  3. พื้นที่คลังอาหาร และรายได้ พื้นที่ส่วนกลาง ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเก็บผักสร้างรายได้ส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้มีความปลอดภัยปลอดสาร
  4. ปรับสภาพแวดล้อมภายในชุมชนให้มีความสะอาด โดยใช้หลัก 4 ส คือ สะอาด สว่าง สีสัน สีเขียว

 

สิ่งที่เกิดขึ้น

  1. เกิดกลุ่มเด็กเยาวชนเห็นปัญหา ร่วมออกแบบแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ เห็นคุณค่าและสื่อสารเล่าเรื่องชุมชน 
  2. เกิดกลุ่มสื่อพื้นบ้าน รวมตัวกันของปราชญ์ชุมชน ครูภูมิปัญญา ผู้ใหญ่ในชุมชน และเด้กเยาวชน (เล่า ตีกลอง ร้องเพลง)
  3. มีพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่พบปะเชื่อมความสัมพันธ์ ทำกิจกรรมสำหรับทุกคน กิจกรรมสร้างสรรค์ ลานเล่น ตลาดนัดวิถีถิ่น พื้นที่คลังอาหาร ห้องเรียนชุมชนอย่างต่อเนื่อง
  4. มีการจัดสภาพแวดล้อมทำให้ชุมชนสะอาด ปลอดภัย เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนในชุมชนมากขึ้น
  5. คนในชุมชนยอมรับเด็กเยาวชนมากขึ้น และมีการทำงานร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมระหว่างเด็กเยาวชนกันผู้ใหญ่
  6. คนในชุมชนออกมาร่วมกิจกรรม มีความตื่นตัว เกิดจิตอาสาตามธรรมชาติ ช่วยเหลือและสนับสนุนแกนนำชุมชน
  7. ผู้คนรู้จักชุมชนของตนเองมากขึ้น 
  8. เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้กับเพื่อนภาคีเครือข่ายที่ทำเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ และสื่อสารสาธารณะ สื่อสร้างการเรียนรู้
  9. เกิดพื้นที่เศรษฐกิจสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับคนในชุมชน ทั้งในรูปแบบของตลาดชุมชน การผลิตอาหารในชุมชน
  10. เกิดแกนนำทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่สามารถสื่อสารขยายแนวคิดความรู้ แนวทางการส่งเสริมพลังความร่วมมือ และการเสริมพลังสร้างสรรค์ ในการกอบกู้วิกฤติ ให้คนในชุมชน สู่ภาคีเครือข่าย 


สำรวจชุมชน

 กิจกรรมเรียนรู้เด็กเยาวชนแก๊งลูกวัว 

 ร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชน

เปิดตลาดชุมชน กลุ่มสื่อชุมชน  เปิดห้องเรียนรู้ในชุมชน

สื่อสารขยายความรู้แนวทางสู่ภาคีเครือข่าย 

มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา และ สื่อสารสู่องค์กรส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง

เปิดชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้