กระบวนการพลเมืองสร้างสรรค์ชุมชน

Last updated: 25 เม.ย 2566  |  140 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กระบวนการพลเมืองสร้างสรรค์ชุมชน

 

 

ขับเคลื่อนดำเนินงานมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด พลังพลเมืองนักปฏิบัติการ สร้างสรรค์ สื่อสาร ที่จะนำไปสู่การสร้างชุมชน สังคม นิเวศสื่อสุขภาวะ เป็นพลเมืองที่สามารถร่วมคิด ร่วมออกแบบให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ส่งเสริมความสัมพันธ์ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม พื้นที่สร้างสรรค์ส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดโอกาสการเรียนรู้ที่หลากหลาย พื้นที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมทุกระดับ ที่ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของเด็กเยาวชน ทั้งการมีระบบนิเวศสื่อสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลาย เพราะทุกคนสามารถเป็นทั้งผู้รับ ผู้สร้าง และผู้เผยแพร่ส่งต่อสื่อ  เพราะฉะนั้นสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย นิเวศที่สร้างสรรค์ที่ย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กเยาวชน ดังนั้นการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเยาวชน และแกนนำในชุมชน ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Active Citizen) มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ความเป็นพลเมืองไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น แต่คือ สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในตัวบุคคลเพื่อให้เป็นทรัพยากรที่มีค่าของสังคม ซึ่งกระบวนการที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสู่ความเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมที่กระตือรือร้น และมีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะพัฒนา จัดการชุมชน คือ การที่เด็กเยาวชนต้องได้ลงมือทำจริง ตั้งแต่การรู้จักชุมชน นำข้อมูลของชุมชนมาร่วมคิด วิเคราะห์ ออกแบบสร้างสรรค์ สื่อสารสร้างการมีส่วนร่วม ในการเปลี่ยนแปลงชุมชน ที่ให้ความสำคัญกับคนทุกคน ใส่ใจในทุกประเด็นปัญหา โดยใช้ทักษะความเป็นนักสื่อสาร (เท่าทันตัวเอง เท่าทันสื่อ เท่าทันสังคม) ไม่เพียงเท่านั้น การมีพื้นที่ และโอกาสให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ชุมชน ยังส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการคิดเชิงวิพากษ์ต่อ โครงสร้างของสังคม นโยบาย และเศรษฐกิจ  โดยพิจารณามากกว่า เหตุการณ์ที่ผิวเผิน  การสืบค้นและนำเสนอ ประเด็นที่ไม่เป็นธรรมในสังคม รู้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางสังคม และผลกระทบเชิง ระบบที่เกิดขึ้น โดยกระบวนการทำงานจากการลงมือปฏิบัติจริงนั้น ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่สามารถสร้างทักษะภูมิคุ้มกัน ทักษะการรู้เท่าทัน  มีความใส่ใจต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติ โดยการขับเคลื่อนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาที่มุ่งเน้นความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ผู้คนสามารถเข้าถึงพื้นที่กายภาพที่ปลอดภัย รู้ช่องทางการเข้าถึงสิทธิ ทรัพยากร และสวัสดิการ 

 

 

โดยนำแนวคิด MIDL for Inclusive Cities สร้างเมืองสำหรับทุกคน มายกระดับการสร้างชุมชน สร้างเมือง ไม่ใช่เป็นเพียงการมองทางกายภาพ แต่รวมถึงความเท่าเทียมความเสมอภาคของคน การสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในการมีส่วนร่วม ถึงการพัฒนาพื้นที่จากกลุ่มคนที่หลากหลาย คำนึงถึงกลุ่มคนชายขอบ การสร้างพื้นที่กลาง ในช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ เพื่อให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความคิด สร้างชุมชนยกระดับการสื่อสาร เพื่อการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม สร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองทุกคนในการคิดในการตัดสินใจและเสนอวิธีการจัดการพื้นที่ที่ตอบโจทย์ทุกชีวิต โดยมี 6 กระบวนการพลเมืองสร้างสรรค์ มาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการขับเคลื่อนสร้างนิเวศชุมชนสุขภาวะ 

เริ่มตั้งแต่กระบวนการสำรวจ เรียนรู้ รู้จักพื้นที่ ชุมชน เมือง ของตนเอง  นำสิ่งที่พบเห็น ทั้งต้นทุนชุมชน ปัญหาสถานการณ์ผลกระทบ มาร่วมกันคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงและกำหนด      เป้าหมาย สร้างเวทีในการร่วมออกแบบชีวิต ออกแบบชุมชน ออกแบบเมือง และการสื่อสารเพื่อให้ผู้คนได้เข้ามามีส่วนร่วม  และลงมือทำสร้างนิเวศสร้างสุขภาวะเพื่อเด็กและทุกคนในชุมชน

1) สำรวจชุมชน “เดินชุมชน” ค้นหา ศึกษา ข้อมูล บริบท ต้นทุน และปัญหาของชุมชน

2) สกัดข้อมูล “สายตาพลเมือง” วิเคราะห์ปัญหา ความเสี่ยง ความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ    รวมต้นทุนชุมชน ทรัพยากร ความรู้ บุคคล 

3) สื่อสารชุมชน สร้างความเป็นเจ้าของ สร้างการมีส่วนร่วม หลายระดับ เป็นการคืนข้อมูลให้กับชุมชน เปิดพื้นที่รับฟัง แสดงความคิดเห็น ร่วมเสนอแนะ ร่วมออกแบบชุมชน (ออนไลน์ ออนไซด์) 

4) กำหนดเป้าหมาย สร้างเวทีในการร่วมออกแบบชุมชน ที่คำนึงถึงทุกคน กำหนดแนวทาง   วิธีการ บทบาทภารกิจ 

5) ลงมือทำ ปฏิบัติการสร้างนิเวศสุขภาวะเพื่อเด็กและทุกคนในชุมชน

6) เทศกาลสื่อสารชุมชน  เป็นงานสื่อสารปลุกพลังชุมชน สื่อสารคุณค่า บทเรียนข้อค้นพบ หรือ นวัตกรรมสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงชุมชน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้